ภูตรัก...ภูตพยาบาท เขียนโดย โสภิดา ธนากร |
ภูตรัก...ภูตพยาบาท เขียนโดย โสภิดา ธนากร
การทำงานร่วมกันระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านในนวนิยายแนวสยองขวัญ หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คงอยู่ที่ 80 ต่อ 20 ผู้เขียนต้องพาผู้อ่านเข้าไปสู่บรรยากาศของเรื่องเล่าให้ได้ ไม่เช่นนั้นต้องถือว่าการทำงานล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ดั้งนั้น 80 เปอร์เซ็นต์ถือเป็นภาระหนักอึ้งของผู้เขียน ส่วน 20 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้อ่านต้องแง้มประตูใจเอาไว้ประมาณหนึ่ง หากปิดประตูใจและไม่ยอมรับเรื่องที่กำลังอ่านอยู่ ก็ถือว่าไม่ใช่ความผิดของผู้เขียนถ่ายเดียว ผู้อ่านต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยอยู่กลายๆ
“ภูตรัก...ภูตพยาบาท” เป็นเรื่องราวของวิญญาณกลุ่มหนึ่ง ที่ผู้เขียนเฉลยเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “...วิญญาณเหล่านั้นตายจากไปกะทันหัน ความเจ็บปวด ทนทุกข์และทรมาน สิ่งนี้ย่อมนำให้พวกเขาไปโดยไม่สงบสุข วิญญาณของพวกเขาจึงปรากฏร่างหลอกหลอนผู้คน ด้วยอำนาจที่หล่อหลอมรวมกัน จนมีพลังมหาศาลไร้ขอบเขต...”
นวนิยายแนวสยองขวัญจัดอยู่ในหมวดหมู่วรรณกรรมหลีกหนี (escape literature) ผู้อ่านที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เรื่องแนวนี้มักจะให้การต้อนรับด้วยดีเสมอมา และไม่ได้หลงไปตามกระแสเหมือนตลาดหนังสือบางประเภท ผู้อ่านที่ติดตามหนังสือแนวสยองขวัญคงไม่ปฏิเสธว่า หากพบหนังสือผีชั้นดี อาจทำให้จิตใจอิ่มเอมเหมือนได้โด้ปยาทีเดียว โดยเฉพาะช่วงเวลากระตุกขวัญ ต่อมไร้ท่อภายในร่างกายจะหลั่งสารเคมีออกมา ทำให้จิตใจกระชุ่มกระชวย เหมือนสำเร็จความใคร่ทางความคิด ไม่ใช่ผู้อ่านทุกคนที่จะค้นพบจุดสุดยอดนี้ได้ และไม่ใช่หนังสือผีทุกเล่มที่มีช่วงเวลาดังกล่าว เพราะต้องขึ้นอยู่กับความจัดเจนในการอ่านของผู้อ่าน ส่วนผู้เขียนก็ต้องทำงานอย่างหนักหน่วงด้วยเช่นกันเพื่อสนองตอบอารมณ์ของผู้อ่านให้ได้
ผู้อ่านที่ติดหนังสือผี คงเคยผ่านอาการวางไม่ลง ต้องอ่านข้ามคืนเพื่อติดตามตัวละครที่ตนเองเอาใจช่วย บางครั้งถึงกับขว้างหนังสือทิ้งเมื่อตัวละครดังกล่าวถูกแขวนค้างเติ่งเอาไว้ ตามกลวิธีนำเสนอของผู้เขียน หากผู้อ่านเกิดอาการเช่นนี้ถือว่าหนังสือเล่มนั้นประสบความสำเร็จ และ “ภูตรัก...ภูตพยาบาท” ก็จัดอยู่ในหนังสือผีชั้นดีประเภทนี้ นับว่าผู้เขียนมีกลวิธีนำเสนอได้น่าสนใจ เนื่องเพราะเรื่องราวสยองขวัญได้ถูกนำเสนอผ่านนักเขียนอื่นมานับไม่ถ้วน ทำให้นักเขียนปัจจุบันต้องทำงานหนัก เพื่อหลีกหนีความจำเจของโครงเรื่อง และ “ภูตรัก...ภูตพยาบาท” ก็ทำได้ดีในจุดนี้
ความแตกต่างที่ทำให้ “ภูตรัก...ภูตพยาบาท” น่าสนใจ คือวิธีการเล่าเรื่อง ผู้อ่านที่เคยผ่าน “นิทานเวตาล” “หนึ่งพันอาหรับราตรี” และ “หิโตปเทศ” คงทำความคุ้นเคยกับนวนิยายเล่มนี้ไม่ยากนัก เพราะรูปแบบการนำเสนอค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ผิดเพียงเกิดต่างยุคสมัยกันเท่านั้น ตามศัพท์วรรณคดีไทยเรียกการเล่าเรื่องแบบนี้ว่า เรื่องซ้อนเรื่อง (story within a story)แน่นอนว่า ผู้อ่านจะได้รับการทดสอบความสามารถในการอ่าน โดยผู้เขียนเองก็ต้องทำงานหนักในเรื่องนี้เหมือนกัน หากผู้เขียนพลาด ผู้อ่านก็ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย โชคดีที่ผู้เขียนทำได้ดีในเรื่องนี้ เลยทำให้ “ภูตรัก...ภูตพยาบาท” เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่นักอ่านเรื่องสยองขวัญไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
“ภูตรัก...ภูตพยาบาท” เป็นเรื่องสยองขวัญออกไปทา