1/11/2557

กว่าจะถึงเชิงตะกอน เขียนโดย สัปเหร่อหอน

กว่าจะถึงเชิงตะกอน เขียนโดย สัปเหร่อหอน
กว่าจะถึงเชิงตะกอน เขียนโดย สัปเหร่อหอน

กว่าจะถึงเชิงตะกอน เขียนโดย สัปเหร่อหอน

เชิงตะกอน เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ สร้างขึ้นโดยมนุษย์ ส่วนมากจะตั้งอยู่ในป่าช้า หรือภายในเขตวัด เป็นจุดสุดท้ายของทุกคนต้องไปแปรสภาพร่างกายคืนสู่แผ่นดิน ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา หากมีโอกาสไปงานศพญาติสนิทหรือมิตรสหาย ผู้อ่านคงคุ้นเคยสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นอย่างดี บางแห่งสร้างขึ้นอย่างอลังการเพื่อเปรียบกับเมรุมาศ อันเป็นขุนเขาแห่งหนึ่งในสวรรค์ชั้นฟ้า แต่บางแห่งก็จัดทำขึ้นอย่างเรียบง่ายตามความเชื่อและกำลังศรัทธาของผู้สร้าง

เสฐียรโกเศศ นักปราชญ์ทางด้านประเพณีไทยได้สรุปไว้ว่า “...เรามีชื่อใช้เรียกที่เผาศพอยู่หลายอย่าง เช่น ร้านม้า ฐานเผา ตาราง เชิงตะกอน จิตกาธาน อันที่จริงอะไรๆเหล่านี้ก็เป็นสิ่งเดียวกัน คือหมายถึงกองฝืน...”

“กว่าจะถึงเชิงตะกอน” เป็นรวมเรื่องสั้นของ “สัปเหร่อหอน” เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆต่อเนื่อง ในนิตยสารผี๔๘ โดยการรวมเล่มครั้งนี้ได้เอาชื่อคอลัมน์มาตั้งเป็นชื่อหนังสือ นับว่าเป็นการสื่อตรงกับเนื้อหาภายในเล่มได้อย่างเหมาะเจาะ ผู้อ่านที่เคยผ่าน “หลายชีวิต” ของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” คงทำความคุ้นเคยกับหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ยากนัก

“กว่าจะถึงเชิงตะกอน” ได้จำลองการตาย 21 รูปแบบ ต่างกรรมต่างวาระ แต่มาพบจุดจบเดียวกันในช่วงสุดท้ายของชีวิต “สัปเหร่อหอน” ผู้มีหน้าที่เสมือนผู้จัดการศพ มีโอกาสได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับแต่ละชีวิตเนื่องเพราะอาชีพการงานของเขา และได้ถ่ายทอดเรื่องราวของแต่ละศพเมื่อครั้งใช้ชีวิตแหวกว่ายอยู่ในโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งปากคำของศพเองหรือปากคำจากพยานแวดล้อม นับว่าเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง ที่ “สัปเหร่อหอน” ไม่ทิ้งเรื่องราวทั้งหมดไปพร้อมกับร่างกายพวกเขา เพราะหากทำเช่นนั้น เราคงไม่มีหนังสือทรงคุณค่าเล่มนี้ไว้ประดับความรู้

หนังสือมากมายที่บอกเล่าเกี่ยวกับความตาย โดยผู้เขียนแต่ละคนก็มีประสบการณ์หรือความรอบรู้ต่างกัน จึงทำให้แต่ละเล่มก็มักจะเอาความนึกคิดของผู้เขียนเป็นที่ตั้ง และบางครั้งถึงขั้นเกินเลยไปตัดสินอะไรต่อมิอะไรมั่วไปหมด น้อยคนนักที่จะรู้ลึกและรู้จริง นอกจากคนที่คลุกคลีอยู่กับความตายโดยเฉพาะ ดังนั้น “กว่าจะถึงเชิงตะกอน” จึงมีความโดดเด่นเป็นพิเศษกว่าเล่มอื่นอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะผู้เขียนมีตำแหน่งเป็นถึงผู้จัดการศพ

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังความตายยังคงเป็นความลับดำมืดต่อมนุษยชาติ ที่แม้แต่ “สัปเหร่อหอน” เองก็ไม่อาจสรุปได้ว่า ตายแล้วไปไหน มีเพียงชีวิตก่อนตายเท่านั้นที่ “สัปเหร่อหอน” พยายามยกขึ้นนำเสนอเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้มีชีวิต บางศพสมควรแก่การหลั่งน้ำตาอาลัย บางศพน่าสมเพทเวทนา บางศพน่าจะถูกสมน้ำหน้า ถึงอย่างไร ชีวิตทั้งหมดทั้งปวงก็ควรค่าแก่การเรียนรู้ไม่ใช่หรือ

“กว่าจะถึงเชิงตะกอน” ได้ซ่อนปรัชญาขั้นสูงทางพุทธศาสนาเอาไว้ด้วย แต่เพราะความรอบรู้ของ “สัปเหร่อหอน” จึงทำให้ปรัชญาเหล่านั้นเป็นเรื่องง่ายที่ผู้อ่านเข้าใจไม่ยากนัก ผิดกับหนังสือหลายเล่มที่พยายามอวดภูมิรู้ของตน โดยไม่สนใจผู้อ่านว่า จะปืนบันไดขึ้นไปถึงอภิปรัชญาขั้นสูงนั้นได้หรือไม่ ผู้อ่านจะไม่พบอะไรทำนองนั้นในหนังสือของ “สัปเหร่อหอน” ถึงแม้จะกล่าวถึงความตายทั้งเล