8/27/2559

มาลา คำจันทร์ นักเขียนซีไรท์กับผลงานวรรณกรรมผี

มาลา คำจันทร์

มาลา คำจันทร์ เป็นนักเขียนคุณภาพคนหนึ่งของเมืองไทย และได้รับรางวัลนักเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรท์) เมื่อปี พ.ศ. 2534 จากหนังสือเรื่องเจ้าจันท์ผมหอม หรือนิราศพระธาตุอินทร์แขวน

-----------------------------------------------------------

มาลา คำจันทร์กับชีวิตบนเส้นทางนักเขียนแนววรรณกรรมผี นับว่าเป็นนักเขียนคุณภาพอีกคนที่มีงานเขียนแนววรรณกรรมผีออกสู่สาธารณชนไม่ขาดสาย หากนักอ่านติดตามผลงานของมาลา คำจันทร์ตั้งแต่ต้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มาลา คำจันทร์เขียนเรื่องวรรณกรรมผีได้สุดยอดจริงๆ

มาลา คำจันทร์ เป็นคนล้านนาโดยกำเนิด ดังนั้นงานเขียนของเขาจึงมีบรรยากาศพื้นถิ่นทางภาคเหนืออยู่หลายเล่ม แม้แต่หนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรท์ก็เช่นเดียวกัน และผลงานของเขาโดดเด่นทางด้านภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

มาลา คำจันทร์ สร้างสรรค์ผลงานเชิงวิจัยด้านจิตวิญญาณหรือวรรณกรรมผี ที่เขาเขียนจากประสบการณ์ตรงและอ้อม มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ผสมผสานจนเป็นผลงานทรงคุณค่าเข้าขั้นวรรณกรรมผีในชื่อเรื่อง “เล่าเรื่องผีล้านนา” แน่นอนว่าชื่อหนังสือบ่งบอกว่าเป็นความเชื่อเฉพาะพื้นถิ่นทางภาคเหนือ แต่เมื่อได้อ่านแล้วคติความเชื่อกลับข้ามขอบเขต ครอบคลุมภูมิภาคในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ยกตัวอย่างผีที่มาลา คำจันทร์ กล่าวถึงในหนังสือทรงคุณค่าเล่มนี้ เช่น ผีปู่ย่า,ผีม้าบ้อง,ผีดอยด้วน,ผีค้างพอน,ผีในวัด,ผีพราย,ผีขุนน้ำ,ผีเรือน,ผีสือ,ผีโพง,ผีเสื้อ,ผีเจ้านาย,ผีเจ้าที่,ผีมด,ผีเมง,ผีบ้าตาวอด,ผีปกกะโหล้ง,ผีน้ำ,ผีเงือก,ผีกละ เหล่านี้เป็นต้น
หนังสือผีผลงานของ มาลา คำจันทร์

มาลา คำจันทร์เคยพบเรื่องราวเหนือธรรมชาติ

มาลา คำจันทร์ บอกเล่าไว้ในบางตอนของหนังสือเล่มนี้ว่า เขาเคยพบเรื่องราวที่พิสูจน์ไม่ได้อยู่หลายครั้งในชีวิต ตั้งแต่เด็กกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงหาคำอธิบายไม่ได้ เขาเก็บเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาถ่ายทอด และใช้เอกสารทางวิชาการเพื่ออ้างอิงเหตุการณ์ดังกล่าว จนแล้วจนรอดก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้สนิทใจนัก

แน่นอนว่า ความทรงจำในวัยเด็กมีส่วนสำคัญที่หล่อหลอมให้นักเขียนซีไรท์คนนี้ ผลิตผลงานเกี่ยวกับสิ่งที่อธิบายไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ออกมาหลายต่อหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น “เด็กบ้านดอย” หรือ“เรื่องเล่าจากดงลึก” ก็มาจากเรื่องเล่าที่ มาลา คำจันทร์ ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก

เรื่องเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณหรือวรรณกรรมผี ที่กระจายอยู่ตามผลงานของมาลา คำจันทร์ บ่งบอกว่าความเชื่อเรื่องภูต ผี ปิศาจ ไม่ใช่สิ่งงมงายแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามกลับมีส่วนขัดเกลาจิตใจ ให้ผู้คนอยู่กันอย่างมีความสุข ยกตัวอย่างในงานเขียนของมาลา คำจันทร์ มักจะอ้างถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตนเพื่อกำราบผู้ที่กระทำผิดในชุมชนนั้นๆ

ผีในมุมมองของมาลา คำจันทร์

มาลา คำจันทร์ พยายามขยายความสิ่งที่เรียกว่า “ผี” ไม่ว่าจะในความหมายทำนอง ผีคือความกลัว ผีคือสภาพหรือปรากฏการณ์ที่เราอธิบายไม่ได้ ผีคืออำนาจที่เหนือเรา เป็นต้น แม้จะให้คำจำกัดความอย่างไรมาลา คำจันทร์ก็บอกเป็นนัยๆว่า ผีในความหมายของเขา ก็เหมือนผีในความเข้าใจของผู้คนทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นแดร็กคิวล่าในความเชื่อของฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นผีปอบในความเชื่อของคนอีสาน ไม่ว่าจะเป็นผีกละในความเชื่อของคนล้านนา ล้วนมีลักษณะบางประการที่คล้ายคลึงกัน คือ ผีจำพวกนี้ชอบกินของสดคาว

ความหมายของ “ผี” ที่ตรงกันทั้งโลก ทำให้เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีสามารถข้ามวัฒนธรรมได้ง่าย เห็นได้จากภาพยนตร์หรือหนังสือต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องลึกลับสยองขวัญ ที่เข้ามาเผยแพร่ในบ้านเรา ต่างประสบความสำเร็จกันถ้วนหน้า

ในบ้านเราเอง ต่างท้องถิ่นและต่างชุมชนก็มีความหลากหลายในเรื่อง “ผี” ตรงกันกับที่มาลา คำจันทร์ เฉลยเรื่องนี้ไว้ในหนังสือวรรณกรรมผีชื่อ “เล่าเรื่องผีล้านนา” ทำนองว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะ “...ผีทั้งหลายมีอยู่ได้ก็เพราะมีคน ไม่มีคนก็ไม่มีผี ไม่มีแสงสว่างก็ไม่มีเงา”มาลา คำจันทร์ ไม่ได้บอกตรงๆว่า คนเป็นผู้สร้างผีขึ้นมาเป็นตัวเป็นตน แต่เขาก็ได้บอกเป็นนัยๆในความหมายเช่นนั้น

งานเขียนของมาลา คำจันทร์ทำให้นักอ่านยอมรับวรรณกรรมผีมากขึ้น

ถึงอย่างไร เรื่องของผีที่นักเขียนระดับซีไรท์ได้พยายามอธิบายเอาไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องผีล้านนา” ถือเป็นเรื่องเล่าทรงคุณค่าด้านวรรณกรรมที่หาอ่านไม่ได้ง่ายนัก เพราะผู้มีความรู้ระดับสูงมักมีอคติกับเรื่องทำนองนี้ ถือเป็นเรื่องงมงายบ้าง ถือเป็นเรื่องไร้สาระบ้าง ถือเป็นเรื่องไร้เหตุผลบ้าง ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเหตุให้เรื่องผีกำลังถูกลดคุณค่าลง ทั้งที่ในอดีตเรื่องผีมีคุณประโยชน์อย่างมากในท้องถิ่นและชุมชน เพราะมีส่วนขัดเกลาให้ผู้คนอยู่กันอย่างมีขนบธรรมเนียม

ประสบการณ์เรื่องผีของมาลา คำจันทร์ นับเป็นวรรณกรรมผีกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี ในอนาคตเราอาจได้อ่านเรื่องเล่าผีจากนักวิชาการหลากหลายอาชีพ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไปว่าเรื่องผีจะเป็นความเชื่อที่ไร้เหตุผล เพราะมาลา คำจันทร์ ได้พิสูจน์เอาไว้ในหนังสือ“เล่าเรื่องผีล้านนา” แล้วว่า เรื่องผีจัดเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่ง และเป็นองค์ความรู้แขนงหนึ่งที่กำลังรอการศึกษาจากผู้มีความรู้

แน่นอนว่า เรื่องผีหมิ่นเหม่ต่อการพัฒนาประเทศอยู่บ้าง ในแง่ของเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถนำมารวบรวมเป็นตำราได้ เป็นแค่เพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ถึงอย่างไรเราก็ไม่อาจละเลยเรื่องราวเหล่านี้ เพราะความเป็นจริง สิ่งที่ซ่อนอยู่ในจินตนาการ มักจะมีส่วนช่วยบริหารให้สมองรู้จักคิดรอบด้าน เห็นได้จากประสบการณ์เรื่องผีของมาลา คำจันทร์ ที่เจ้าตัวเองก็บอกเป็นนัยๆว่า เรื่องผีมีส่วนทำให้เขาเดินบนเส้นทางนักเขียน แล้วก็เป็นได้ถึงนักเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรท์) ด้วย