3/20/2557

จินตวีร์ วิวัธน์ ราชินีนักเขียนผีแห่งสยามประเทศ

จินตวีร์ วิวัธน์
จินตวีร์ วิวัธน์ ราชินีนักเขียนผีแห่งสยามประเทศ

จินตวีร์ วิวัธน์ เป็นนามปากกาของจินตนา ปิ่นเฉลียว เธอเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด แต่ต้องระหกระเหินไปเรียนหนังสือและอาศัยอยู่กับพี่สาว (คนละแม่) ที่จังหวัดลำปาง จบมัธยมปีที่ 6 จากนั้นค่อยมาเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ จินตวีร์ วิวัธน์เล่าภูมิหลังของตนไว้ว่า “จากบ้านที่รองเมืองมาโรงเรียนเตรียมก็นั่งรถรางมาชั้นธรรม 10 สตางค์ ชั้นพิเศษมีเบาะ 20 สตางค์ แต่ก่อนไปไหนสะดวกรถราไม่มากเหมือนสมัยนี้ ในกรุงเทพฯนี่มีคนราวแสนกว่าๆ (ประมาณ พ.ศ.2500) สอบเข้าเรียนคู่แข่งมีแค่ 1 ต่อ 10 เราก็เข้าเรียนได้อย่างที่เรียกว่าหืดไม่ขึ้นคอนัก”

สิ่งดลใจทำให้ จินตวีร์ วิวัธน์ เข้าสู่โลกหนังสือเพราะได้รับอิทธิพลกาพย์กลอนของพ่อ เธอสนใจเรื่องนี้สมัยเรียนชั้น ป.2-ป.3 สมัยนั้น จินตวีร์ วิวัธน์เริ่มหัดเขียนกลอนตามประสาเด็ก ครั้นเอาไปให้พี่ชาย (วาทิน ปิ่นเฉลี่ยว ผู้ก่อตั้งนิตยสารต่วย’ตูน) ดูก็ถูกหัวเราะเยาะจนเขิน แต่พี่ชายและพ่อก็ช่วยกันแนะนำแก้ไขให้บ้าง

จินตวีร์ วิวัธน์เขียนกลอนมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงชั้นมัธยมจึงเริ่มมีผลงานลงในนิตยสารชัยพฤกษ์ สารเสรี และดรุณสาร สมัยนั้นเธอชอบอ่านบทกวีของกุลทรัพย์ รุ่งฤดี นนท์ นิรันดร และนายผี โดยเฉพาะบทกวี “อีสาน” ของนายผีประทับใจเป็นอย่างมาก ทำให้เธอหันมาสนใจเขียนบทกวีในแนวสะท้อนสังคมหรือแนวเพื่อชีวิต

เมื่อเข้าเรียนเตรียมอุดมฯ จินตวีร์ วิวัธน์เขียนบทกวีจริงจังขึ้น ส่งไปลงสนามนิตยสารสยามสมัยซึ่งเป็นนิตยสารที่เฟื่องฟูในยุคนั้น ผู้ควบคุมตรวจบทกวีคือ แสงทอง (หลวงบุณยมานพพานิช) จินตวีร์ วิวัธน์ทบทวนความหลังเอาไว้ว่า “ท่านแก้ไขให้ ส่งกลับคืนมา บอกว่ากลอนของคุณให้ได้ แต่ว่าควรที่จะต้องแก้ไขบ้าง ขอให้ดูตามที่ผมแก้ให้นี่เป็นแนวทาง”

จินตวีร์ วิวัธน์ ได้รับการฝึกฝนเรื่องสำนวนภาษากับแสงทอง จนเธอยกให้ท่านเป็นครูคนแรกและคนเดียวในชีวิตการเขียนกลอน ในวัยสาว จินตวีร์ วิวัธน์เขียนบทกวีเสียดสีสะท้อนสังคมได้คมคายไม่แพ้ใครแต่พอแก่ตัวลงเธอสารภาพว่า “รู้สึกทรรศนะคติจะเปลี่ยน ไฟคงมอดเชื้อเคยร้อนรนก็มาเย็นลง เปลี่ยนแนวเขียนเป็นเชิงเรียบๆหน่อย เช่น นิราศพระอาราม ศรีจุฬาลักษณ์”

ต่อมาจินตวีร์ วิวัธน์ก็วางปากกาเขียนบทกวี เหลืออยู่เพียงการรจนาบทอศิรวาทตามหน้านิตยสารอย่าง กานดา และ ต่วย’ตูน เท่านั้น ผลงานสมัยที่จินตวีร์ วิวัธน์เขียนกลอนเคยได้รับได้รับรางวัลประกวดร้อยกรองของมูลนิธิจอห์น เอฟ.เคนเนดี้ 2 ปีซ้อน (2515 และ 2516) จากผลงานกวี นิราศอาราม และอยุธยาวสาน ตามลำดับ นอกจากนี้ร้อยกรองประเภทโคลงเรื่อง ศรีจุฬาลักษณ์ ยังชนะเลิศรางวัลดีเด่นในการประกวดหนังสือประเภทบทกวีที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2524

ในขณะที่ผลงานกลอนค่อยห่างจางไปจากหน้ากระดาษ แต่ชื่อเสียงของ จินตวีร์ วิวัธน์ กลับปรากฏหน้าตาขึ้นในนวนิยายแนวลึกลับและสยองขวัญ เริ่มตั้งแต่นวนิยายเรื่องแรกในนามปากกานี้ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2517 ในนิตยสารจักรวาล ซึ่งมีประสิทธิ ศิริบรรเทิง เป็นบรรณาธิการ เรื่องต่อๆมาไม่ว่า มายาพิศวาส หรือ สาบนรสิงห์ ซึ่งเป็นแนวลึกลับแบบเดียวกัน ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี กระทั่งชื่อเสียง จินตวีร์ วิวัธน์กลายเป็นนักเขียนยอดนิยมอีกคนหนึ่งในสมัยนั้น

เมื่อย้อนกลับไปดูเส้นทางการเขียนหนังสือในแนวร้อยแก้วของจินตวีร์ วิวัธน์ จะพบว่าเธอเริ่มเขียนเรื่องสั้นมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เรื่องสั้นแรกชื่อ “บานเย็น” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ (ออกประมาณปี 2495) ได้ค่าตอบแทนมา 30 บาท แต่ที่ยังเป็นความภูมิใจจนถึงบัดนี้ก็คือ ขณะเรียนอยู่ปี 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เธอเขียนเรื่องสั้นแนวลึกลับชื่อ “ยังไม่เสื่อมเสียงมนต์” ส่งไปประกวดได้รับรางวัลโบสีฟ้าของนิตยสารสยามสมัย นับเป็นหน่อแรกสุดของการเริ่มต้นเขียนเรื่องแนวลึกลับอันฝังลึกอยู่ใต้จิตสำนึกมาตั้งแต่สมัยวัยเด็ก

จินตวีร์ วิวัธน์ ได้รับการชักชวนจากพี่ชาย(วาทิน ปิ่นเฉลียว) ให้มาช่วยทำต่วย’ตูนพิเศษ(เล่มใหญ่) หลังจากต่วย’ตูนพ็อกเก็ตบุ๊ค(เล่มเล็ก)ไปได้สวยแล้ว ในตอนต้นปี 2517 โดยนิตยสารเล่มใหญ่เน้นเนื้อหาเรื่องลึกลับเข้ามาเป็นแกนนำ จุดนี้เองที่ทำให้จินตวีร์ วิวัธน์มีโอกาสได้ค้นคว้าเรื่องลึกลับและสยองขวัญอย่างเต็มที่ โดยเธอยอมลาออกจากงานราชการอันมั่นคง เพื่อมาทำงานเขียนหนังสือที่ตนเองรัก

จินตวีร์ วิวัธน์ สร้างผลงานด้านจินตนิยายเอาไว้มากมาย กระทั่งในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 เธอก็เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัยเพียง 46 ปี ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการนิยายสยองขวัญ เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็เรียกได้ว่ายังไม่มีนักเขียนหญิงคนใดสามารถก้าวขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งราชินีนิยายสยองขวัญผู้นี้ได้อีกเลยแม้แต่คนเดียว

จินตวีร์ วิวัธน์ รำลึกถึงวัยเด็กของตัวเอง

รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญมาก ที่บ้านมีหนังสือเยอะแยะ พ่อเป็นนักอ่าน นักกลอน ท่านเขียนบทละครร้องได้ นักแปลแปลงานอย่างท่านก็อ่านกันในหมู่พวกท่าน ไม่ได้เผยแพร่ที่ไหน ท่านชอบเรื่องลึกลับตื่นเต้น แม่ชอบฟังบทกวี วรรณคดีไทยนี่ชอบมาก แม่นะอ่านไม่ค่อยออกหรอก เป็นคนโบราณ พ่อก็มีหน้าที่อ่านให้แม่ฟัง ท่านอ่านดังๆ ลูกสามคนนั่งตาแป๋ว คอยจำใส่หัว พี่น้องสามคนเลยชอบเรื่องลึกลับเหมือนกัน พ่อเป็นช่างไฟฟ้าการรถไฟ พ่อกับแม่รักกันมากเลย นิยายรักของพ่อกับแม่ทำให้พี่น้องสามคนเอามาหากินได้เป็นเรื่องจริง สมัยพ่อเป็นหนุ่มจะไปหาแม่มีแม่น้ำขวาง พ่อต้องว่ายน้ำข้ามมา ก่อนจะถึงบ้านก็มีสิ่งสยองขวัญ มีที่เผาศพกลางแจ้งอันเบ้อเร่อ คนบ้านนอกเขาเผากันกลางแจ้ง พ่อว่ายน้ำมาถึงเชิงตะกอนเพิ่งเผาศพใหม่ๆถ่านคุแดง แต่พ่อไม่กลัวผี พ่อเอาผ้าเปียกคลุมหัว เดินผ่านชาวบ้านที่มากันเป็นกลุ่ม นึกสนุกขึ้นมาเอาผ้าโบก ชาวบ้านวิ่งป่าราบ เราพี่น้องเอาไปเขียนเรื่องสั้นกันสนุก พ่อนะเจ้าบทเจ้ากลอน เคยเขียวค่าวซอ (เพลงยาว) จีบแม่

สมัยนั้นพี่ต่วย(วาทิน ปิ่นเฉลี่ยว เจ้าของหนังสือในเครือต่วย’ตูน)กลัวผีอันดับหนึ่ง ตอนพี่ปกรณ์ยังเป็นวัยรุ่นอยู่เขาทำผีหลอก พี่ต่วยจับไข้หัวโกร๋นเป็นเดือนเพราะตกใจกลัว พี่ต่วยชอบอ่านเรื่องผีสางมาก ตอนเล็กๆพี่ต่วยเอาหนังสือผีมาพี่เห็นหน้าปกร้องลั่น เราก็กลัวพี่ต่วยเอาไปซ่อนใต้หมอนบ้างอะไรบ้าง แล้วพี่ก็แอบดู แอบเอามาอ่านแล้วก็กลั้วกลัว จำได้ว่าพี่ต่วยพาไปดูหนังเรื่องเดชผีดิบ พอไปถึงหน้าโรงหนังมีหนังแผ่นติดเต็ม ดูหนังแผ่นก็ร้องจ๊ากอีก บอกไม่เอาแล้วกลับบ้านดีกว่า ตอนนั้นอายุราวห้าหรือหกขวบ พี่ต่วยกลัวผีพอๆกับพี่ พี่นี่กลัวที่สุดเลย ไม่เคยมีใครที่กลัวอย่างนี้เลย แต่แปลกอย่างหนึ่งพี่ปกรณ์นี่ชอบอ่านเรื่องผี แกไม่กลัวผีเลย แกไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ พ่อก็ไม่ค่อยเชื่อ แต่ศึกษาดูว่ามันเป็นอย่างไร ลูกๆก็ได้มรดกมาบ้าง ส่วนความศรัทธาแล้วแต่บุคคล ลูกๆพี่ก็กลัวผี เรื่องกลัวผีนี่เป็นมรดกตกทอด

พี่กล้าพูดได้เลยว่าพี่ต่วยเป็นคนบุกเบิกเรื่องลึกลับตื่นเต้นในนิตยสาร (ต่วย’ตูนพิเศษ) อย่างนี้เป็นคนแรกในทศวรรษที่ผ่านมา อย่างสมัยก่อนเราขุดเรื่องแดรกคูล่า แกเป็นคนบอกให้พี่มาค้นประวัติแดรกคูล่า แกเป็นคนบอกให้พี่มาค้นประวัติแดรกคูล่า เพราะว่าที่จริงมันไม่ใช่ผีดูดเลือดอย่างนี้หรอก มันมีตัวตนจริงๆ พี่ไปค้นหนังสือเสียหน้ามืดไปเลย หนังสือเมืองไทยไม่มี บังเอิญเจ้านายไปนอก ท่านถามว่าอยากได้อะไรบ้างจะซื้อมาฝาก เลยขอประวัติแดรกคูล่า ได้มาจริงๆฮือฮากันใหญ่ ผู้อ่านบอกว่าหาแนวนี้มาลงบ่อยๆ เราก็จับจุดนี้ได้เลยค้นกันใหญ่ มนุษย์หมาป่า แฟรงเก้นสไตน์

ตัวอย่างงานเขียนบางเล่มของ จินตวีร์ วิวัธน์

จุมพิตเพชฌฆาต ใต้เงาปิรามิด แทบหัตถ์เทวี บ้านศิลาทราย ผาโหงพราย พรายพระกาฬ พลังหลอน ภูตพระจันทร์ มณีสวาท มนุษย์ชิ้นส่วน (มฤตยูเขียว ภาค 2) มนุษย์สังเคราะห์ มฤตยูเขียว ม่อนมนต์ดำ มาแต่หิมพานต์ มายาพิศวาส มายาลวง มิติเร้น รวมเรื่องสั้น ขวัญหนี โลก:2599 วังไวกูณฑ์ ศตวรรษสวาท ศีรษะมาร สางสยอง สางสีทอง สาบนรสิงห์ สุสานภูเตศวร เสกอสุรกาย (อุโมงค์มาร ภาค 2) อมฤตาลัย อาถรรพณ์เทวี อาศรมสาง อุโมงค์มาร