3/16/2557

สัมภาษณ์ นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ เจ้าของนามปากกานักเขียนนวนิยาย "พงศกร"

“หมอโอ๊ต-นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ”
“หมอโอ๊ต-นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ”

ละครเกี่ยวกับผีและวิญญาณครองความนิยมมาทุกยุค ทุกสมัย โดยตัวละครผีแต่ละตัวก็มีบุคลิกโดดเด่นน่าจดจำแตกต่างกันไป และถ้าพูดถึงเจ้าพ่อนิยายผียุคใหม่ ที่ผูกพันลึกซึ้งกับตำนานอาถรรพณ์ของผืนผ้าคงต้องยกให้คุณหมอหนุ่มมาดนุ่ม “หมอโอ๊ต-นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ” แอมบาสเดอร์ประจำโครงการ GREEN HEALTH และผู้อำนวยการอาวุโสโครงการพิเศษ “พัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสาร” ประจำศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดตัวละครผีโด่งดังที่สุดแห่งยุค ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าสีเกด” จาก “สาปภูษา”, “ผีอีเม้ย” จาก “รอยไหม” และล่าสุดกับ “ผีเมย์ลี” จากละครเรื่อง “กี่เพ้า” ซึ่งรับบทโดย “แอน ทองประสม”

ดูเหมือนคุณหมอจะชื่นชอบเรื่องเกี่ยวกับตำนานอาถรรพณ์ของผ้าเป็นพิเศษ

(ยิ้มรับ) “สาปภูษา” เป็นนวนิยายเกี่ยวกับผ้าโบราณเรื่องแรกที่ผมเขียนขึ้น ตอนนั้นผมลงพื้นที่ไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผ้าทอคูบัว ที่จังหวัดราชบุรี ไปพูดคุยกับช่างทอผ้า และทดลองทอผ้าด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถเข้าถึงความรู้สึกของคนทอผ้า การลงพื้นที่ครั้งนั้นทำ ให้ค้นพบเสน่ห์ของผ้าทอ ซึ่งแต่ละผืนก็มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สำคัญผ้าทอยังเป็นบันทึกวัฒนธรรมของยุคสมัยที่ แม่นยำที่สุด โดยแต่ละประเทศจะมีตำนานเกี่ยวกับผ้าทอแตกต่างกันไป ผมลงทุนศึกษาข้อมูลและเอกสารประวัติศาสตร์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับผ้าทอของเอเชีย เพื่อเก็บไว้เป็นวัตถุดิบสำหรับ เขียนนิยายซีรีส์เรื่องผ้าทอ ส่วนเรื่องต่อมาที่ผมเขียนคือ “รอยไหม” ก็ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทาง ไปทำงานที่หลวงพระบาง ทำให้ได้พูดคุยกับช่างทอผ้าเก่าแก่ของลาว และมีโอกาสชมผ้าทอโบราณผืนพิเศษ ซึ่งสั่งทอให้เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายของลาว เพื่อใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษก แต่ก็ต้องเก็บเข้ากรุอย่างถาวร เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองซะก่อน ขณะที่นิยายเรื่องใหม่ “กี่เพ้า” ผมเก็บความประทับใจจากการชมนิทรรศการแฟชั่นเสื้อผ้านานาชาติ จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ The Met ที่นิวยอร์ก ระหว่างเดินทางไปศึกษาต่อด้านคอมมิวนิเคชั่น แมดิซีน ที่สหรัฐอเมริกา โดยช่วงนั้นมีการนำชุดกี่เพ้าของบุคคลสำคัญๆของจีนมาจัดแสดง ซึ่งเป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก

ในอนาคตยังจะมีผลงานเกี่ยวกับผ้าทอให้แฟนๆ ได้ติดตามไหมคะ

(หัวเราะ) ผมเตรียมข้อมูลไว้เยอะครับ โดยเรื่องล่าสุดที่กำลังวางแผงคือ “สิเน่หาส่าหรี” ได้แรงบันดาลใจจากพิพิธภัณฑ์ The Met ระหว่างที่ชมนิทรรศการเกี่ยวกับชุดส่าหรีของอินเดีย ทำให้ได้รู้ว่า ชุดส่าหรีของอินเดียมีเสน่ห์และตำนานแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ แต่ละชุดก็สามารถบ่งบอกถึงพื้นเพที่มาและประวัติศาสตร์ของผ้าทอที่แตกต่างกัน ส่วนเรื่องใหม่ที่กำลังเขียน และทยอยตีพิมพ์ลงในสกุลไทยคือ “เล่ห์ลุนตยา” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าซิ่นของพม่า ซึ่งมีตำนานน่าสนใจไม่แพ้ผ้าทอของชาติอื่นๆ อนาคตอันใกล้ ผมเตรียมเดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับผ้ากิโมโน ซึ่งคงต้องหาข้อมูลลึกมาก และ
ใช้ เวลาศึกษาเยอะ

คุณหมอลุกขึ้นจับปากกาเขียนนิยายได้อย่างไร

ผมเป็นลูกคนเดียวครับ พ่อเป็นทหาร และแม่เป็นครู ทำให้ชอบจินตนาการ และด้วยความที่อ่านหนังสือเยอะ จึงฝันอยากเป็นนักเขียน ผมเริ่มจับปากกาตั้งแต่เด็กๆ โดยแต่งนิทานและเรื่องสั้น ส่งไปตามนิตยสารเด็กต่างๆเพื่อคัดเลือกไปตีพิมพ์ เช่น ชัยพฤกษ์, สตรีสาร และสาวิตรี กระทั่งมาเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ทำให้มีเวลาน้อยลง จึงหยุดงานเขียนไปโดยปริยาย และเริ่มกลับมาเขียนหนังสือเป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้ง ตอนเดินทางไปศึกษาต่อด้านคอมมิวนิเคชั่น แมดิซีน ที่สหรัฐอเมริกา เพราะอยู่ที่โน่นเงียบเหงามาก หลังเลิกเรียนก็ไม่รู้จะทำอะไร จึงเริ่มเขียนนิยายเรื่องแรกในชีวิตตอนอายุ 31 ปี ทั้งๆที่ใฝ่ฝันอยากเขียนมานาน มีชื่อเรื่องว่า “เบื้องบรรพ์” ใช้เวลาเขียน 6 เดือนเต็ม โดยได้แรงบันดาลใจจากตำนานเล่าขานของชาวบ้านหนองหาน จังหวัดสกลนคร ระหว่างออกค่ายแพทย์อาสา ตอนเขียนเสร็จใหม่ๆก็ส่งให้คุณแม่ช่วยอ่าน ท่านเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จังหวัด ราชบุรี คุณแม่บอกว่าสนุกดี ท่านมีลูกศิษย์ทำงานอยู่ที่สตรีสาร น่าจะลองส่งผลงานเข้าประกวด ปรากฏว่าผมได้รับรางวัลชมเชย ประเภทนวนิยายจากมูลนิธิสุภาว์ เทวกุล ซึ่งเป็นอะไรที่ภูมิใจมาก พอเขียนนิยายเรื่องแรกจบ ก็ลุยเรื่องสองต่อทันที เป็นเรื่องเบาๆเกี่ยวกับนักสืบ โดยมีตัวเอกเป็นหมอและแมวแสนรู้ ชื่อว่า “ทะเลราตรี” จากนั้นก็เขียนนวนิยายมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว มีผลงานประมาณ 35 เล่ม






ถามจริงๆนะคะ คุณหมอชอบเขียนเรื่องผีๆ แล้วชีวิตจริงเคยเจอผีไหมคะ

ไม่เคยเจอครับ (หัวเราะ) และเป็นคนค่อนข้างกลัวผีด้วยซ้ำ แต่ผมอาศัยจินตนาการ ผสมผสานกับเรื่องราวที่ได้ฟังมาซะมากกว่า คนรอบตัวไปเจออะไรแปลกๆก็จะมาเล่าอยู่เรื่อย เพราะรู้ว่าเราเป็นนักเขียนนิยาย ส่วนใหญ่คนจะรู้จัก “พงศกร” จากแนวลึกลับ เหนือจริง แต่ชีวิตจริงของผมไม่ค่อยผจญภัยเท่าไหร่ เรียนจบมาก็ทำงาน เพียงแต่งานของผมเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพกายและใจของคนไข้หลังรับการรักษา ทำให้มีโอกาสพบเห็นผู้คนหลากหลาย

ตั้งแต่เขียนนิยายมา รู้สึกรักตัวละครตัวไหนมากที่สุด

ผมรักนางเอกของเรื่อง “ฤดูดาว” ซึ่งเป็นหญิงสาวที่เติบโตมาในครอบครัวร่ำรวย แต่ยอมละทิ้งทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ของตัวเอง ผมได้แรงบันดาลใจจากบุคคลที่มีอยู่จริง คือ “ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์” ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์ตัวอย่างของเมืองไทย

ช่วงเวลาไหนที่ไอเดียบรรเจิดเหมาะแก่ การเขียนนิยายที่สุด

ตอนกลางคืนครับ ผมเป็นคนสมาธิสั้น ถ้ามีเสียงอะไรรบกวน จะทำงานไม่ได้เลย ต้องบรรยากาศเงียบๆ ถึงจะคิดออก ยิ่งถ้าเขียนเรื่องผีๆ แล้วมีเสียงหมาหอน อันนี้สมองแล่นมาก (หัวเราะ)

คุณหมอมีนักเขียนในดวงใจไหมคะ

ผมชื่นชอบ “คุณจินตวีร์ วิวัธน์” ซึ่งเป็นนามปากกาของ “คุณจินตนา ปิ่นเฉลียว” ท่านเป็นราชินีเรื่องลึกลับของเมืองไทย และเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว นิยายของท่านมีเสน่ห์ชวนติดตาม ทั้ง ตื่นเต้น และลึกลับ ทำให้ต้องลุ้นตลอด





สำหรับนักเขียนมือใหม่ อยากจับปากกา เขียนนิยาย ควรเ