2/16/2557

เสียงหอนในห้องมืด เขียนโดย อุเทน พรมแดง

เสียงหอนในห้องมืด เขียนโดย อุเทน พรมแดง
เสียงหอนในห้องมืด เขียนโดย อุเทน พรมแดง

เสียงหอนในห้องมืด เขียนโดย อุเทน พรมแดง

เสียงหอนของสุนัขถือเป็นวิธีลดความเครียดอย่างหนึ่งตามสัญชาตญาณสัตว์ประเภทนี้ เมื่อไม่มั่นใจหรือ
สงสัยอะไรบางอย่าง สุนัขจะหอนโหยหวน พฤติกรรมเดียวกับไก่ส่งเสียงกระโตกกระตากเวลาตกใจ ทั้งนี้ทั้งนั้น บางโอกาสเสียงหอนของสุนัขมีนัยมากกว่านั้น โดยเฉพาะเสียงหอนของสุนัขพันธุ์ไทยขนดำเหมือนกา ในเรื่อง “เสียงหอนในห้องมืด” นวนิยายสยองขวัญของ อุเทน พรมแดง

บรรพบุรุษสุนัขสายพันธุ์ต่าง เคยอยู่ป่ามาก่อน มนุษย์ได้นำเอาพฤติกรรมชอบอาศัยรวมกันเป็นฝูงของมัน มาพัฒนาจนกลายเป็นสัตว์เลี้ยง หยุดความก้าวร้าวตามสัญชาตญาณสัตว์ป่า เหลือไว้เพียงความเชื่อง ชอบคลุกคลีกับเจ้าของ ดังนั้นมนุษย์หลายคนจึงชอบเลี้ยงสัตว์สี่เท้าหน้าขนชนิดนี้ โดยมองข้ามความเป็นสัตว์ป่าที่ยังเหลืออยู่ในพันธุกรรมของมัน

มนุษย์หลายครอบครัวปล่อยให้สุนัขเล่นกับเด็ก โดยเข้าใจว่าเด็กจะมีพัฒนาการทางสังคมเป็นบวกทางจิตวิทยา เมื่อได้คลุกคลีอยู่กับสัตว์ประเภทนี้ ถึงอย่างไร มนุษย์กับสุนัขก็ไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน การสื่อสารของทั้งสองฝ่ายไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการกอดรัดคลุกคลีกับสุนัข ที่เราเหมาว่าเป็นการแสดงออกถึงความรัก แต่สุนัขจะไม่ทำเช่นนั้นเลย นอกจากเวลาต่อสู้และผสมพันธุ์

“เสียงหอนในห้องมืด” ได้นำเอาสัญชาตญาณของสัตว์ป่าที่เหลืออยู่ในพันธุกรรม มาย้ำเตือนถึงความน่าสะพรึงกลัว หากไม่โดนกระตุ้น พันธุกรรมอำมหิตก็จะซ่อนเงียบอย่างสงบ แต่คราวใดมันถูกคุกคาม หรือถูกทำให้เจ็บปวดด้วยเหตุใดก็ตาม สุภาษิตไทยที่ว่า “หมาจนตรอก” เป็นสิ่งที่เราควรตะหนักอยู่เสมอเพื่อความปลอดภัย และสัญชาตญาณของสุนัขจะเลือกวิธีสู้ ถ้ามันรู้สึกว่ากำลังจนมุม

พฤติกรรมบางอย่างของสุนัขที่แสดงผ่านท่าทางของมัน เราควรรู้ไว้บ้างเพื่อความปลอดภัยเมื่อเห็นสุนัขมีอาการผิดปกติ
1. หูลู่ไปด้านหลัง หมายถึงกำลังกลัวหรือยอมจำนน
2. หูชี้มาด้านหน้า หมายถึงกำลังมั่นใจหรือสนใจ
3. เห็นตาขาวชัดเจนและม่านตาขยายกว้าง หมายถึงกำลังกลัว
4. อ้าปากกว้างและหอบหายใจถี่รัว หมายถึงกำลังกลัว
5. หางตกลง หมายถึงกำลังกลัวหรือยอมจำนน
6. หางตั้งขึ้น หมายถึงกำลังมั่นใจ
7. กระดิกหางไปมา หมายถึงกำลังตื่นเต้น

“เสียงหอนในห้องมืด” ไม่ได้บอกว่า เราต้องอยู่ร่วมกับสุนัขอย่างไรถึงปลอดภัย แต่ชี้ให้เห็นประเด็นอีกด้านของพฤติกรรมสัตว์หน้าขน แม้บางท่าทางดูเป็นมิตรและขี้เล่น จนมนุษย์ส่วนใหญ่ตายใจหลงไปกับสิ่งที่ปรากฏเพียงผิวเผิน มองไม่เห็นสัญชาตญาณสัตว์ป่าที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกในตัวตนของสุนัข

แน่นอนว่า สุนัขบางชนิดได้รับการปรับแต่งสายพันธุ์จนหมดความเป็นสัตว์ป่า และกลายเป็นสัตว์เลี้ยงในที่สุด นับเป็นความสำเร็จของวงการวิทยาศาสตร์ ทุกวันนี้เราเห็นเสือตามเวทีละครสัตว์ ดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ ที่เจ้าป่าตัวมหึมายอมจำนนต่อมนุษย์ตัวเล็กกว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ภายใต้ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์

“เสียงหอนในห้องมืด” ไม่ได้บอกตรงๆว่า สุนัขที่เป็นปมหลอนของเรื่อง กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ใด ผู้เขียนบอกเพียงเป็นสุนัขไทยขนสีดำเหมือนกา มันถูกนำเข้ามาในบ้านเพื่อขับไล่ความเหงาตามประสาของชีวิตคนเมืองหลวง สุ
นัขดังกล่าวเติบโตไปพร้อมกับความระหองระแหงของครอบครัวที่มันอาศัยอยู่ บางครั้งมันถูกยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับผู้เป็นเจ้าของ แน่นอนว่า ผู้ถูกเปรียบเป็นเหมือนสุนัขย่อมไม่พอใจเป็นธรรมดา

เมื่อชีวิตครอบครัวเจ้าของสุนัขขนดำพันธุ์ไทยเดินทางมาถึงจุดจบ ฝ่ายหญิงหนีจากบ้าน ทิ้งให้สามีอยู่กับสุนัข ความน้อยเนื้อต่ำใจที่เขาเคยถูกเปรียบเป็นเหมือนสัตว์หน้าขน มาบัดนี้ได้รับการปฏิเสธด้วยพฤติกรรมรุนแรง ถึงขึ้นผูกสุนัขดังกล่าวไว้ท้ายรถแล้วขับลากไปตามถนน สร้างความเวทนาให้ผู้พบเห็น ดูเหมือนเป็นความอ่อนแอของเขาที่แสดงออกมาเพื่อเรียกร้องความสนใจจากภรรยา แต่พฤติกรรมดูช่างโหดร้ายเกินไปสำหรับสุนัข

“เสียงหอนในห้องมืด” ได้สร้างความสมเหตุสมผลให้กับสุนัข ในการทำร้ายมนุษย์โดยเฉพาะกับเด็ก เพราะครั้งหนึ่งมันก็ถูกมนุษย์ทำร้ายอย่างไร้เหตุผลเช่นกัน ระหว่างมนุษย์กับสุนัขที่เป็นตัวละครในเรื่อง ผู้อ่านคงตัดสินใจลำบากว่าจะเลือกข้างไหน และจุดนี้เองที่เป็นการท้าทายมนุษยธรรมในตัวผู้อ่านค่อนข้างรุนแรง

“เสียงหอนในห้องมืด” ไม่เพียงเป็นนวนิยายสยองขวัญตามที่โปรยหน้าปกเท่านั้น แต่ได้ล้ำเส้นไปถึงนวนิยายสะท้อนสังคม ที่ทุกคนต้องอ่านก่อนตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ไม่ว่ามนุษย์ด้วยกันเอง หรือมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงก็ตาม