9/04/2559

ก.อัศวเวศน์ นักแปลหนังสือยอดฝีมือของไทย

ก.อัศเวศน์ นามปากกาของ กึกก้อง อัศวเวศน์

“นิยาย...ไม่ใช่วรรณกรรม
วรรณกรรม...ไม่ใช่นิยาย
จึงแปล...นิยายให้เป็นนิยาย
ไม่แปล...นิยายให้เป็นวรรณกรรม”

ประโยคข้างต้นถูกบันทึกไว้โดย ก.อัศวเวศน์ และเป็นนามปากกาของ กึกก้อง อัศวเวศน์ ผู้ได้รับจารึกจากนักอ่านหนังสือเมืองไทยว่า เขาคือยอดฝีมือแห่งคนหนึ่งในยุทธจักรนักแปลแห่งสยามประเทศ โดย ก.อัศวเวศน์ ได้ฝากผลงานคุณภาพไว้มากมาย และอีกหลายนามปากกาที่ใช้ในโลกหนังสือ

ก.อัศวเวศน์ หรือกึกก้อง อัศวเวศน์ ได้ก้าวเข้าสู่ถนนนักแปลในวัยอายุเพียง 14 ปี ก่อนหน้านั้น เขามีฉายแววแตกฉานด้านภาษามาตั้งแต่เด็ก อย่างไรก็ตาม ก.อัศวเวศน์ ต้องใช้ความพยามอยู่หลายปี กว่าจะพบความสำเร็จเป็นก้าวแรก โดยเขามุ่งมั่นกระทั่งอายุ 18 ปีจึงมีหนังสือแปลตีพิมพ์เป็นเล่มแรก นับว่านานพอสมควรกับพรสวรรค์ที่เขามีอยู่อย่างเพียบพร้อม

ต่อจากนั้น ก.อัศวเวศน์ ก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่บนถนนนักแปลอย่างสมบุกสมบัน โดยยุทธจักรในบรรณาพิภพได้พิสูจน์พลังศรัทธาในตัวเขา จนบางครั้ง ก.อัศวเวศน์ต้องยอมก้มหน้าและหันหลังให้กับโลกหนังสือ ในตอนนี้เองที่เขาได้รับประสบการณ์จากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานทำงานข้างถนน ไปจนถึงห้องแอร์บนตึกสูง

อย่างไรก็ตาม ก.อัศวเวศน์ ก็ทนแรงเรียกร้องจากพรสวรรค์ไม่ได้ จึงกลับมาทุ่มเทชีวิตให้กับงานแปลหนังสืออีกครั้ง และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับการแปลหนังสือ กระทั่งผลงานได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักอ่านจำนวนมาก ทำให้ ก.อัศวเวศน์ ต้องทุ่มเทวิญญาณให้กับการแปลหนังสืออย่างหนัก และสิ่งนี้เองทำให้มีผลกระทบกับสุขภาพของเขาเอง
บรรยากาศห้องทำงานของ ก.อัศวเวศน์
ก.อัศวเวศน์ ซ่อนกำลังใจภายใต้ร่างกายที่บอบช้ำ มุมานะทำงานแปลหนังสือ โดยที่น้อยคนหนักจะรู้จักความจริง มีเพียงเพื่อนฝูงรอบข้างที่คอยแนะนำให้เขาพักผ่อนบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่หลุดออกมาจากปากของ ก.อัศเวศน์ เมื่อได้รับคำแนะนำก็คือ เขาจะตายเพื่องานแปลหนังสือ เขาเกิดมาเพื่อแปลหนังสือ และจะตายไปพร้อมกับงานแปล

ด้วยเหตุที่ ก.อัศวเวศน์ทำงานแปลหนังสืออย่างเอาเป็นเอาตาย จึงทำให้ผลงานของเขาทุกเล่มเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ สร้างความบันเทิงให้กับนักอ่าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในแวดวงนักอ่านหนังสือแปล จึงมีแต่คนรักและให้กำลังใจ ก.อัศวเวศน์ อย่างล้มหลาม และปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องทะนุถนอมเอาไว้ในโลกหนังสือตราบนานเท่านาน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ก.อัศวเวศน์ ทุ่มเททำงานอย่างไม่เสียดายชีวิตและไม่ฟังคำทัดทานจากคนรอบข้าง ทำให้สุขภาพทรุดหนักอย่างเฉียบพลัน แต่เขายังคงทำงานแปลหนังสืออย่างต่อเนื่อง ไปพร้อม ๆ กับเทียวเข้าออกโรงพยาบาล เหมือนกับว่าโรงพยาบาลคือบ้านหลังที่สองของเขา จวบจนช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ก.อัศวเวศน์ได้ออกมาพักฟื้นที่บ้าน เพราะจะได้ทำงานแปลหนังสือด้วย และคืนหนึ่งเขาก็ฟุบหน้ากับโต๊ะทำงานพร้อมกับสิ้นลมหายใจ

ก.อัศวเวศน์ เกิดมาเพื่องานแปลหนังสือ และตายพร้อมกับงานแปลหนังสือ คือสิ่งที่เขาบันทึกเอาไว้ และเกิดขึ้นจริงในชีวิตของเขา นับว่าเป็นบุคคลเพียงน้อยนิดบนโลกหนังสือที่จะยึดถือในสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่นและศรัทธา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต นับเป็นตัวอย่างให้กำลังใจกับผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นอย่างดี
ตัวอย่างผลงานอมตะของ ก.อัศวเวศน์