8/27/2559

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ว่าด้วยเรื่องวรรณกรรมผีและนวนิยายผีล้วนๆ


สุชาติ สวัสดิ์ศรี
เรื่องรัก เรื่องผจญภัย เรื่องลึกลับ เรื่องสยองขวัญ... ที่มีมุมมองไปในแง่อารมณ์ตื่นเต้นเกินพอดี-หรือที่เรียกกันว่า melodrama เหล่านี้แหละล้วนได้รับการแปลการแต่งกันมาตั้งแต่ครั้ง “นักเรียนนอก” รุ่นแรกของไทยกลับจากอังกฤษในช่วงรัชกาลที่ 5 ต่อกับช่วงรัชกาลที่ 6 และระยะนั้นเรื่องที่แต่งหรือแปล (ส่วนใหญ่มักจะแปลง) ประเภทชวนตื่นเต้น สยดสยอง ขนลุกขนพอง เห็นเลือดแล้วเป็นลม... อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้ล้วนมีตัวอย่างให้เห็นกันมาตั้งแต่ ความพยาบาท ของ แมรี่ คอเรลลี่ ที่ “แม่วัน” แปล (และแปลงบ้างเล็กน้อย) ระยะนั้นเคยมีผู้คิดไปว่าเรื่องทำนองลึกลับตื่นเต้นปนระทึกขวัญ ชิงรักหักสวาท ฟันดาบแย่งราชบัลลังก์ คุกมืด นักโทษหัวขาด ฯลฯ อะไรเหล่านี้คือลักษณะรูปแบบที่ฝรั่งเรียกว่า tragedy ดังนั้นมีผู้คิดแปลคำว่า tragedy ว่าเป็นเรื่องประเภท อนาถวัตถุ ความจริงลักษณะแบบ tragedy อันเป็นความเศร้าความตาย ก็ถือเป็นส่วนสำคัญของเรื่องประเภท Romanance เช่นกัน แต่ทว่าการแต่งการแปลของเราในช่วงบุกเบิกทะลุทะลวงเข้าไปไม่ถึง tragedy อันเป็นต้นแบบของกรีก อย่างมากที่พอเห็นอิทธิพลของเรื่อง อนาถวัตถุ แบบไทย-ไทยนั้นดูจะได้เค้ามาจากเบ้าเดียวเท่านั้น นั่นคือเบ้า Romance และเบ้า Gothic ซึ่งถ้าตรวจสอบกันอย่างเป็นระบบแล้ว อิทธิพลของวรรณกรรมตะวันตกที่ “หลุด” เข้ามาสู่สังคมไทยและกลายเป็น mainstream ของวรรณกรรมไทยทั้งอดีตและปัจจุบัน ก็เห็นจะมีอยู่แค่เบ้า Romance และเบ้า Gothic นี้เท่านั้น ไม่ว่าจะพิจารณามาตั้งแต่ครั้ง ความพยาบาท ของแมรี่ คอเรลลี่ เรื่อยมาจนถึงงานประเภทที่ผมติดใจนักทั้ง เหยี่ยวราตรี อินทรีแดง ทั้ง “พนมเทียน” “ทมยันตี” “กฤษณา อโศกสิน” “แก้วเก้า” หรือล่าสุดก็ต้องนับเอา “กิ่งฉัตร” และ อำพรางอำยวน เข้าไปในกระแสเบ้าเดียวกันนี้

นั้นคือ “กระแสหลัก Romance” และ “กระแสย่อย Gothic” ที่ถือเป็นอันหนึ่งอันเดียว ดังจะกล่าวต่อไปว่ามีความเป็นมาประการใด

ศัพท์วรรณกรรมตะวันตก ไม่ว่าจะเรียก Gothic fiction, Gothic story, หรือ Gothic novel ไม่ว่าจะมีเนื้อหาหรือรูปแบบแยกย่อยออกไปจนทำให้เห็นว่า ไอแซ็ค อาซิมอฟ แตกต่างจาก สตีเฟน คิง Rebecca ของดัฟฟี่ ดู เมอร์ริเอร์ แตกต่างจาก บ้านทรายทอง ของ ก. สุรางคนางค์ Wuthering Heights ของอิมิลลี่ บรอนเต้ แตกต่างจาก อวสานสวนกุหลาบ ของ ร. จันทพิมพะ หรือ Jane Eyre ของชาร์ล็อทท์ บรอนเต้ แตกต่างจาก ผู้ดี ของ “ดอกไม้สด” ฯลฯ ส่วนอันเป็นรายละเอียดและแง่มุมเชิงสังคม-วัฒนธรรมนั้นย่อมเป็น เรื่อง ของใครของมันอยู่แล้ว ไม่มีผู้ใดสงสัย แต่ทว่าทางที่มุ่งหมายนั้นต่างหาก เมื่อพิจารณา “เส้นทาง” อันเป็นมาของการเกิดก่อน-หลัง บรรยากาศและตัวละครที่โลดแล่นออกมาทั้งหมด ผลเห็นว่ามันอยู่บนทางเดียวกัน และเบ้าใหญ่อันเป็นรากเหง้ามาแต่เดิมของวรรณกรรมอังกฤษยุค “วิกตอเรียน” สมัยศตวรรษที่ 18 นั้นก็คืออิทธิพลของเรื่องราวแบบ Gothic ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

และเมื่อสืบลึกลงไป เรื่องราวประเภท Gothic ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะอยู่ในเนื้อหาแบบอ่อน (เรื่องรัก เรื่องผจญภัย เรื่องลึกลับ) หรืออยู่ในเนื้อหาแบบแก่ (เรื่องสยองขวัญ เรื่องระทึกขวัญ) ศัพท์วรรณกรรมของตะวันตกได้ให้ความเข้าใจขยายไว้ว่า มันก็คือชนิดหนึ่งของเรื่องประเภทโรแมนซ์ (A type of romance) นั่นเอง

แต่ตั้งแต่เดิมคำว่า “Gothic” หมายถึง ชนเผ่าโกธ (Goths) ซึ่งเป็น “ชนเผ่าเยอรมนิก” อันเป็นเผ่าพันธุ์อนารยะของยุโรปกลางและยุโรปเหนือที่มีกำลังกล้าแข็งขึ้นมาในยุค “มัธยสมัย” (medieval) ช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนสามารถแข็งข้อไม่ยอมรับเชื่อ “อารยธรรมแบบกรีก-โรมัน” อีกต่อไป ดังจะเห็นได้ชัดจาการสร้างอารยธรรมในแง่ศิลปกรรมของตนขึ้นเรียกว่า สถาปัตยกรรมกอธิก อันมีรูปแบบเฉพาะในแนวทางของสถาปัตยกรรมยุคมัธยสมัย โดยมีการใช้ “ซุ้มประตูโค้ง” (arch) และ “หลังคาโค้งยอดแหลม” (vault) ทำให้ลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ยึดถือตามระบบระเบียบแบบ คลาสสิก ของกรีกและโรมันได้รับการท้าทาย สถาปัตยกรรมแบบกอธิกได้แพร่กระจายไปทั่วทวีปยุโรปตะวันตก ลักษณะของรูปแบบอันโดดเด่นที่ประกอบไปด้วยซุ้มประตูโค้งและหลังคาโค้งแหลมได้ก่อให้เกิดบรรยากาศใหม่ทางพื้นที่ กล่าวคือเป็นสถาปัตยกรรมที่ให้บรรยากาศทึบทึมไม่สดใสเหมือนลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกที่เน้นเอาความโปร่งโล่งและความมีเอกภาพลงตัวเป็นหลัก ถ้าคลาสสิกเป็นแสงสว่าง กอธิกก็จะเป็นแสงมืด ลักษณะของสถาปัตยกรรมกอธิกก่อให้เกิดแสงเงาที่มีความสลับซับซ้อน เส้นโค้งของหลังคาและซุ้มประตูไม่ว่าจะเป็น ปราสาท หรือ คฤหาสน์ จะก่อให้เกิดความรู้สึกเร้นลับเต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมที่เย็นเยือก มีทางเดินใต้ดิน มีประตูเลื่อน มีช่องกลในการอำพรางตัว มีหลุมพรางที่เตรียมไว้ดักศัตรู ลักษณะของปราสาทหรือโบสถ์วิหารที่ได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบนี้จึงเต็มไปด้วยความทึบทึม เหมือนสงสัยการมีอยู่ของ “พระเจ้า” เหมือนเห็นว่าชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องของเหตุผล เหลี่ยมมุมทึบทึมและความสลัวเลือนให้ช่วงฤดูหนาวอันยาวนานของยุโรปเหนือได้เร้าให้เกิดจินตนาการเกี่ยวกับภูตผีปิศาจ ความวิปริตบ้าคลั่ง การฆ่าล้างเผ่าล้างตระกูล ความอาฆาตพยาบาท การหายตัวอย่างลึกลับ การปรากฏตัวด้วยเวทมนตร์คาถา ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือ ลักษณะของสถาปัตยกรรม “แบบกอธิก” จะมีลักษณะที่ตรงกันข้ามทุกประการกับลักษณะของสถาปัตยกรรม “แบบคลาสสิก” อันมีต้นกำเนิดที่ถือเป็นแบบแผนและมีระเบียบเคร่งครัดตกทอดมาจากอิทธิพลของอารยธรรมกรีกและโรมัน (อย่างไรก็ตามสถาปัตยกรรมแบบ “หลักสี่พลาซ่า” จะเป็นอิทธพลมาจากแบบ “คลาสสิก” หรือ “กอธิก” ผมก็จนปัญญาจะตอบเหมือนกัน... มันเหมือนวรรณกรรมไทยปัจจุบันที่ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอาแดร๊กคูล่า หรือ แม่นาคพระโขนง)

เนื่องจากสถาปัตยกรรมกอธิกเกี่ยวข้องกับยุคสมัยกลางของยุโรป เรื่องราวอันเป็นการผจญภัย การเดินทางแสวงหา การค้นหา (เรื่อง) และการค้นพบ (เรื่อง) ของคติความเชื่อแบบอัศวิน หรือที่เรียกว่าคติแบบ “chivalry” ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่อันสูงส่งและสง่างาม จึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก ความแค้น ความเสียสละ การปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า การเดินทางไปปฏิบัติภารกิจประเภท “เสี่ยงตาย” ตลอดจนการกู้เกียรติและการทำ “หน้าที่เยี่ยงอัศวิน” อันมอบให้แก่ “นางอันเป็นที่รัก” (Lady Love) ฯลฯ การกระทำและพฤติกรรมเยี่ยงอัศวินในยุคมัธยมสมัยนี่เองที่กลายเป็นเบ้าใหญ่อันก่อให้เกิดที่มาของคำว่า Romance ในฐานะที่เป็นรางเหง้าดั้งเดิมที่จะเป็นบ่อเกิดพฤติการณ์อีกหลายรูปแบบและเนื้อหาตั้งแต่เซอร์ลานสล็อต,โรบินฮู้ด,อินเดียน่า โจนสส์,เสือใบ-เสือดำ,ชีพ ชูชัย,ระพินทร์ ไพรวัลย์, และ Die Hard ทั้ง 3 ภาค

ด้วยประการนี้ คำว่า “กอธิก” ในศัพท์วรรณกรรมตะวันตกแต่เดิมจึงมีรางเหง้าลงลึกไปในอดีตความเป็นมาของชุมชนยุโรปสมัยกลาง และความสามารถให้ “อิง” ไปได้ในเรื่องราวหลายระดับ กล่าวคือ

1. หมายถึง “ชนเผ่าโกธ” อันเป็นเชื้อสายเยอรมิก เป็นนัยะคล้ายกับจะอิงถึงความโหดร้าย ป่าเถื่อนในฐานะของ “ผู้คนอนารยะ” ที่จะแสดงพลังชั่วร้ายด้านมืดที่เรียกว่า “barbaric” ออกมา

2. หมายถึงสถาปัตยกรรมแบบกอธิก อันบ่งถึง “สถานที่” ที่จะเป็นบรรยากาศและเป็นฉากว่าด้วยปราสาท โบสถ์วิหาร หรือคฤหาสน์ที่มีเหลี่ยมมุมของ “ซุ้มประตูโค้ง” และ “หลังคาโค้งยอดแหลม” ก่อให้เกิดภาวะทึบทึม สลดหดหู่ ผุพัง มีแต่ความลึกลับ และเป็นที่สิงสู่ของเรื่องราวและการกระทำอันลี้ลับต่างๆ

3. หมายถึงการผจญภัยและการกระทำเยี่ยงอัศวินในมัธยสมัย นี่เป็นด้านตรงข้าม เป็นด้านสว่างที่สง่างามเยี่ยงอัศวิน-chivalry กล่าวคือ อดทน กล้าหาญ ซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ตัว ช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ นี่คือส่วนหนึ่งของลักษณะแบบ Romance ที่เราจะเห็นตัวอย่างได้ร้อยแปดในวรรณกรรมแบบทุกชาติ ดังนั้นไม่ว่าเขาหรือหล่อนจะออกเดินทางผจญภัย เข้าไปในบรรยากาศของความลึกลับและความลึกลับ ไม่ว่าอะไรจะขวางหน้าก็จะต้อง “ฝ่าข้ามไป” ไม่ว่าจะพบภูตผีปิศาจ มังกรร้าย มนุษย์กินคน หรือ “นังอิจฉา” ในจอทีวี พระเอกและนางเอกก็จะต้องต่อสู้ให้สำเร็จลงด้วยการกระทำอันมีเกียรติ ไม่ว่าจะอยู่ใน Wuthering Heights หรือใน บ้านทรายทอง ไม่ว่าจะเป็นความชั่วร้ายใน The Full of the House of Usher ของ เอ็ดการ์ อัลเลน โป หรือความน่ารักของ แม่เบี้ย ในเรือนไทยโบราณของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ไม่ว่าจะเป็นเสาตกน้ำมัน ในเรื่อง “ผาติกรรม” หรือเสารั้วลวดหนาดต้นที่สาม ในเรื่อง “เงาอุบาทว์” ทั้งหมดล้วนอยู่ในกระแสโรแมนซ์ อันเป็น Gothic romance ที่น่าสนใจยิ่ง

ในวงวรรณกรรมตะวันตก หากไม่นับเรื่องราวประเภทโรแมนซ์ที่ปรากฏอยู่ในลำนำเชิงกวีนิพนธ์และนาฏกรรมเชิงบทละครที่มีกระจัดกระจายอยู่มากมายในฐานะ “วรรณกรรมมัธยสมัย” เรื่องราวโมแมนซ์ร้อยแก้วเล่มแรกๆ มีผู้กล่าวถึงอาหรับราตรี,เดคาเมรอน และนิทานกริมม์ ส่วนในทางตะวันออกนั้นหลายคนอาจนึกไปถึง Tales of Genji ของ “เลดี้มูราซากิ” แห่งญี่ปุ่น และอาจนึกไปถึง สามก๊ก,ไซอิ๋ว ของจีน รามยณะ ของอินเดีย ฯลฯ

เหตุการณ์ในเรื่องมักจะเกิดในปราสาทมืดที่เต็มไปด้วยคุกมืด ทางเดินใต้ดิน และประตูเลื่อน ทั้งยังเต็มด้วยภูตผีปิศาจ การหายตัวอย่างลึกลับ และเหตุการณ์อื่นๆที่สะเทือนขวัญและเหนือธรรมชาติ (ซึ่งนักเขียนหลายคนพยายามอธิบายว่าที่จริงก็เป็นเหตุการณ์ที่เป็นตามธรรมชาตินั่นเอง) จุดประสงค์อันสำคัญของนักเขียนเหล่านี้ก็คือจะก่อให้เกิดความหวาดกลัว โดยนำเอาความลี้ลับ ความเหี้ยมโหดและความสยดสยองมาใช้ให้เป็นประโยชน์

อย่างไรก็ดี วรรณกรรมร้อยแก้วสมัยใหม่ที่ถือกันว่าเป็น Gothic fiction เล่มแรกในฐานะนวนิยายผี ที่สร้าง “แบบอย่างการประพันธ์” เรื่องราวประเภท Gothic romance ขึ้นมาก็คือ ผลงานของ Horace Walpole เรื่อง Castie of Otranto, a Gothic Story ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1764 ที่นวนิยายผีเล่มนี้ถูกยกขึ้นเป็นแบบอย่าง ส่วนหนึ่งก็เพราะเนื้อหาภายในเล่มกล่าวถึงปราสาทมืดแห่งหนึ่งในมัธยสมัย เรื่องราวลึกลับชวนระทึกใจเกิดขึ้นในสถานที่ที่เป็นบรรยากาศของสถาปัตยกรรมแบบกอธิก และแม้แต่ชื่อปกก็มีคำว่า “a Gothic story” ระบุประเภทงานไว้ชัดเจน ทำให้ผลงานการประพันธ์ในรูปแบบเนื้อหาทำนองนี้ได้รับการเรียกเป็นยี้ห้อว่า “Gothic story” “Gothic romance” มาตั้งแต่บัดนั้น

นิยายผีในเชิงระทึกขวัญที่เอ่ยถึงแนวเรื่องประเภท a house full of horrors ยังมีผู้ยกย่องเอ่ยไว้เป็นตัวอย่างอีกหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นงานประพันธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 และสืบเนื่องมาจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตัวอย่างเรื่องเด่นๆ ที่อยากของเอ่ยไว้เป็นความรู้ ณ ที่นี้ก็มีเช่น เรื่อง Vathek ของ Willial Beckford พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1786 ใช้ฉากประเทศที่มีบรรยากาศแบบตะวันออก โดยมีชื่อรองว่า “an Arabian Tale” แต่เรื่องก็เกิดขึ้นในยุคมัธยมสมัยอันเต็มไปด้วยแง่มุมทางเพศและความรุนแรงแบบเดียวกับงานเขียนของ Marquis de Sade ซึ่งจัดเป็น Gothic erotic อันมีรายละเอียดต่างหากออกไป (เรื่องนี้เราจะคุยกันอีกก็ได้ในวาระอื่น)

นวนิยายผี “กอธิก” รุ่นบุกเบิกที่ได้รับการยกย่องเชิงวรรณศิลป์ค่อนข้างมากในช่วงระยะ “ร่วมสมัย” เดียวกันยังมีตามมาอีกหลายเล่ม เช่นเรื่อง The Mysteries of Udolpho ของ Ann Radcliffe พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1794 เรื่อง The Moke ของ Matthew Gregory Lewis พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1797 ทั้งสองเรื่องนี้ยังใช้ฉากและบรรยากาศแบบ “กอธิก” ในสมัยกลางเช่นเดียวกันเนื้อหาเน้นไปที่ความสยดสยองและเรื่อง “เหนือธรรมชาติ”

หลังจากนี้เป็นต้นมานวนิยายผี “กอธิก” ได้คลี่คลายขยายขอบเขตออกไปโดยมิได้ยึดว่าจะต้องใช้ฉากมัธยสมัยอีกต่อไป แต่ยังจะคงบรรยากาศน่ากลัวและเหตุการณ์อันระทึกขวัญไว้เหมือนเดิม บางเรื่องเพิ่มเติมความลึกด้านตัวละครมากขึ้นและมี “มุมมองเชิงจิตวิทยา” มากขึ้น ส่วนใหญ่มักจะอ้างถึงความปวดร้าวที่ “เกินกว่าจะรักษาให้หายขาด” ความพิการอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่ “ปราถนาดี” หรือรไม่ก็กล่าวถึงสภาวะจิตใจที่วิปลาสไปเพราะ “อำนาจชั่วร้ายบางอย่าง” และความบ้าคลั่งที่เนื่องมาจาการ “สูญเสียนางอันเป็นที่รัก” ความทะเยอทะยานและความ “บ้าวิชา” ที่นำไปสู่ “อำนาจเร้นลับ” และการท้าทายพระเจ้า นอกจากนั้นลักษณะ “ความรุนแรงทางเพศ” ก็ได้เขียนถึงในแง่มุมที่มีรายละเอียดร่วมสมัยมากขึ้น นวนิยายผี “กอธิก” ที่ไม่ได้ใช้ฉากและเรื่องในสมัยกลางอีกต่อไปมีเช่นเรื่อง Caleb William ของ William Godwin พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1794 นวนิยายผี “กอธิก” ที่ได้รับการยกย่องอย่างมากและยังถือเสมือนหนึ่งเป็นงานเขียน “ไซ-ไฟ” สมัยใหม่เล่มแรกๆของวงการ “นวนิยายวิทยาศาสตร์” ในยุโรปตะวันตกก็คือเรื่อง Frankenstein ของ Mary Shelley พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1817

นอกจากนี้ “กอธิก” ประเภทผีดิบดูดเลือดที่สร้างความสยองขวัญให้ผู้คนจดจำได้ แม้แต่ตัวละครในเรื่อง “เงาอุบาทว์” ก็ยังอ้างถึง นั่นคือเรื่อง แดร๊กคิวล่า ของ บราม สโตกเกอร์ นังเขียนในยุค “วิกตอเรียน” ของอังกฤษหลายคนได้พัฒนาแนวเรื่อง “กอธิก” ให้มีนัยะร่วมสมัยมากขึ้น ความไม่สมหวังเกี่ยวกับความรักและเรื่องความไม่เท่าเทียมเกี่ยวกับ “ชาติตระกูล” ถูกนำมาใช้มากขึ้น ดังปรากฏในงานประพันธ์ของ “พี่น้องตระกูลบรอนเต้” ซึ่งอาจถือเป็นเรื่องแม่บทของ Gothic romance เกี่ยวกับความรักและชีวิตครอบครัว เช่น Wuthering Heights ของ Emily Bronte พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1847 และ Jane Eyre ของ charlotte Bronte พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1857 ดูเหมือนจะได้รับการเอ่ยถึงมากที่สุด และที่บ้านเรารู้จักกันดีมากที่สุดทั้งที่อยู่ในรุ่น “ปลายแถว” ของนักเขียนอังกฤษยุคนั้นก็คือ แมรี่ คอเรลลี่

เรื่องโรแมนซ์ที่ยังอิงบรรยากาศลี้ลับแบบ “กอธิก” ในรุ่นถัดมาดูเหมือนจะคลี่คลายไปหาเรื่องผจญภัย อาทิ งานเรื่อง สาวสองพันปี ของ เซอร์ ไรเดอร์ แฮกการ์ด ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของเรื่องผจญภัยในแดนลี้ลับต่างๆแบบเรื่อง ราชินีบอด ของ สุวัฒน์ วรดิลก,ล่องภัย ของ น้อย อินทนนท์ และ เพชรพระอุมา ของ “พนมเทียน” เกาะมหาสมบัติ ของ รอเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน ก็ออกไปทางการผจญภัย งานชุด เซอร์ล็อก โฮล์ม ของ เซอร์ อาเธอร์ โคแนนดอยส์ เป็นเรื่องแนวโรแมนซ์ที่คลี่คลายออกมาเป็นต้นแบบของเรื่องนักสืบ งานโรแมนซ์ในลักษณะเรื่อง Time Machine ของ เฮช.จี. เวลล์ ก็คลี่คลายออกไปกลายเป็นแม่แบบให้กับงานเขียนประเภท Fantasy และ Science-fiction ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนรูปโฉมจนมีรายละเอียดก้าวหน้าเป็นของตนเอง แต่โดยหลักแล้วเบ้าหลอมใหญ่ของมันก็คือเบ้า Romance นั่นเอง ดังนั้นเมื่อท่านได้ยินคำว่า โรแมนซ์ ท่านควรจะต้องเข้าใจศัพท์วรรณกรรมไปให้หลากหลายกว้างขวางมากกว่าเรื่องรักหวานจ๋อยหรือนวนิยายจุ๋มกับจิ๋มประเภท “หวานมันฉันคือเธอ”

ทั้งนี้เพราะเบ้าหลักของคำว่า Romance นั้น โครงเรื่องหลักอันเป็นมาตรฐาน ไม่ว่าจะคลี่คลายเนื้อหาไปในแนวใดก็คือ คติว่าด้วยการแสวงหา (quest) นั่นเอง ซึ่งทั้งหมดแห่งคติดังกล่าวย่อมได้แก่พฤติกรรมต่างๆ อันว่าด้วยความรัก ความเกลียด ความโลภ ความหลง ความกลัว ความหวัง และความตาย

นอกจากนวนิยายผี “กอธิก โรแมนซ์” ของนักเขียนอังกฤษในยุคกลางศตวรรษที่ 18 และศตวรรษที่ 19 แล้ว งานเรื่องสั้นของนักเขียนเยอรมันชื่อ E.J.A. Hoffmann ก็ได้รับการยกย่องมาก แต่เราไม่ค่อยได้รู้จักเขามากนัก ผิดกับชื่อเสียงของ เอ็ดการ์ อัลเลน โป นักเขียนอเมริกันรุ่นบุกเบิกที่เรื่องสั้นหลายเรื่องเคยได้รับการแปลเป็นภาษาไทย และงานในแนว “กอธิก” ของ โป นั้นดูจะแจ่มชัดในแง่เร้าอารมณ์ “ระทึกขวัญ” และ “สยองขวัญ” (chilling terror) ได้โดดเด่น อีกทั้งมีเรื่องราวลี้ลับเหนือธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง จนสามารถกล่าวได้ว่าเรื่องสั้นแทบทุกเรื่องของเขานั้น “--เปิดเรื่องเข้าสู่อาณาจักรที่เหตุผลไม่ได้เป็นใหญ่ (irrational) แสดงภาวะจิตใจที่วิปลาส (perverse impulses) และสะท้อนความกลัวที่เป็นฝันร้ายอันนอนสงบนิ่งอยู่ภายใต้พื้นผิวของจิตใจที่เป็นอารยะ” (นักวิจารณ์อเมริกันชื่อ M.H. Abrams เขาเขียนประโยคที่ผมแปลไปแล้วนี้ว่า “the nightmarish terrors that lie beneath the orderly surface of the civilized mind”)

ที่ยกถ้อยคำกล่าวถึง เอ็ดการ์ อัลเลน โป มาให้ท่านได้อ่านก็เพื่อจะเป็นการสรุป “ภาพรวม” ว่า เรื่องสั้นหรือนวนิยายผีประเภท “กอธิก” รุ่นใหม่ๆนั้น มีแง่มุมที่เป็น “เชิงจิตวิทยา” มากขึ้น และไม่จำเป็นต้องพึ่งสถานที่ ประเภท “ซุ้มประตูโค้ง” และ “หลังคายอดเหลี่ยม” อีกต่อไป แต่กระนั้นการเดินทางเข้าสู่จิตใจของมนุษย์อันเต็มไปด้วยความหวังและความกลัวดังกล่าว ก็ยังคงมีอยู่ต่อไปในลักษณะที่ “ร่วมสมัย” มากขึ้น ตัวละครมี “ด้านลึก” และมีความซับซ้อนขึ้น สถานที่อาจจะเป็นที่ใดก็ได้ ตราบใดถ้ามนุษย์ยังมีสถานะไม่มั่นคง ตราบนั้นสถานการณ์แบบ Gothic story ของมนุษย์ก็จะเกิดขึ้น เหมือนดังเช่นภาพรวม 3 ประการเกี่ยวกับเรื่องของ เอ็ดการ์ อัลเลน โป ที่ยกมาไว้ในวงเล็บภาษาอังกฤษข้างต้น

นวนิยายผีร่วมสมัยในยุคต้นและกลางศตวรรษที่ 20 ที่ให้บรรยากาศระทึกขวัญและนำเสนอก้นบึ้งด้านมืดของมนุษย์ออกมาได้อย่างน่าตื่นตระหนกมีตัวอย่างอยู่หลายเล่มด้วยกัน เช่น The Picture of Dorian Gray ของ ออสการ์ ไวล์ด An Occurane at Owl Creek Bridge ของแอมบรอซ เบียร์ซ The Turn of the Screw ของ เฮนรี่ เจมส์ Sanctuary และ Absalom,Absalom ของวิลเลียม โฟร์กเนอร์ In Cold Blood ของ โทนี่ มอริสัน นักเขียนสตรีชาวอเมริกันที่ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อ ค.ศ.1993 ก็น่าจะจัดเป็นงานในแนว “Modern Gothic” ได้ในระดับเดียวกับงานของ วิลเลียม โฟร์กเนอร์ นอกจากนี้มีงานร่วมสมัยของอีกหลายคนทั้งที่เป็นเรื่องสันและเรื่องยาว เช่น งานของ เอช.พี.เลิฟคราฟท์,เชอร์ลี่ แจ็คสัน,แอนเจล่า คาร์เตอร์,โรอัลด์ ดาห์ล,รอเบิร์ท บลอซ,เรย์ แบรดบิวรี่ และถ้าใครจะเอ่ยชื่อ สตีเฟน คิง รวมเข้าไปด้วยผมก็ไม่ขัดข้องแต่ประการใด

หันมาดู “เรื่องเล่า” ทั้งร้อยแก้วร้อยกรองและวรรณกรรมไทยแนวใหม่ ในแง่รูปแบบที่เป็นเรื่องสั้นและนิยายผีไทยทั้งอดีตและปัจจุบัน น่าเสียดายที่เราไม่มีการจัด “ระบบเรื่องแต่ง” และศึกษาวิธีการแต่งทั้งข้อมูลเกี่ยวกับวรรณกรรมโบราณและวรรณกรรมปัจจุบันอย่างเป็นระบบมากพอ แม้แต่ข้อมูลอันว่าถึงเรื่องแต่งเรื่องแปลง เราเขียนขึ้นมาจากอิทธิพลของวรรณกรรมตะวันตกเบ้ากระแส โรแมนซ์ และกระแสกอธิก ซึ่งน่าจะถือเป็นอิทธิพล “กระแสหลัก” หรือที่เรียกว่าเป็น “mainstream” ของวรรณกรรมไทยรุ่นบุกเบิกและถือสืบเนื่องมาเป็นงานแต่งประเภท “รักโศกสะเทือนใจ” “ชิงรักหักสวาท” “โลดโผนผจญภัย” “ลึกลับสยองขวัญ” ที่จัดเป็นระบบของ Pulp fiction ทั้งหลายที่ยังคงครองตลาด “รสนิยมกระแสหลัก” ในวงการวรรณกรรมไทยร่วมสมัยมาได้ตลอดทุกยุคสมัย ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น และกระทั่งหนวดหงอกแล้ว ก็ยังเห็นรสนิยมว่าด้วยเรื่องราวประเภท โรแมนซ์ และ โรแมนซ์กอธิก ครองตลาดวรรณกรรม (ปัจจุบันขยายวงไปถึงบทละครโทรทัศน์) อยู่อย่างเหนียวแน่นและไม่ค่อย “เขยิบคุณภาพ” ไปทางไหนมากนัก --ยังไม่ค่อยพ้นไปจากเส้นรอบวงของ แมรี่ คอเรลลี่ และเซอร์ ไรเดอร์ แฮกการ์ด เท่าใดนัก กระนั้น แม้ว่าจะเป็นกระแส โรแมนซ์ และ โรแมนซ์กอธิก แต่เอาเข้าจริงเมื่อดู “คุณภาพ” กันแล้ว เราก็รับเอาของเขามาแค่อิทธิพลจากงานรุ่นปลายแถว ส่วนรุ่นหัวแถวที่ผมเอ่ยชื่อมาบ้าง เราไม่ค่อยได้เอามาเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นงานของ โฮเรช วัลโปล,แอนน์ แรดคลิฟฟ์,วิลเลียม เบคฟอร์ด,แมททิว เกรกอรี เลวิส หรือแม้แต่โรแมนซ์ “ระดับคุณภาพ” อย่าง เอช.จี.เวลล์,ทอมัส ฮาร์ดี้,ชาร์ลส์ ดิกเกนส์,เอ็ดการ์ อัลเลน โป และ นาธาเนียล ฮอร์ธอร์น เราก็ไม่ค่อยได้รู้จักในแง่งานแปลหนักๆของเขามากนัก

นอกจากนั้น ข้อมูลในแง่ “รากเหง้า” ที่เป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะ พงศาวดาร ตำนาน นิทานชาดก ตำราสมุนไพร เพลงกล่อมเด็ก อีกทั้งเรื่องประเภท “จักรๆวงศ์ๆ” ทั้งหลายทั้งปวง เรายังไม่รู้จักอย่างเป็นระบบอีกมาก ทั้งนักเรียนนอกในรุ่น “ร้อยแก้วแนวใหม่” อย่างเช่นกลุ่มพวก “ลักวิทยา” ยังค่อนข้างดูถูก “นิทานคำกลอน” ประเภทจักรๆวงศ์ๆที่ถือเป็นเสมือน pulp fiction ของชาวบ้านทั่วไป โดยหาว่ามีแต่เรื่องยักษ์ปิศาจเรื่องเหาะเหินเดินอากาศ เรื่องล่องหนหายตัว ล้วนไม่เป็นสาระ ไม่ประเทืองปัญญาเหมือนแนวใหม่ปลายแถวของฝรั่งอย่าง แมรี่ คอเรลลี่ หรือไม่ โรแมนซ์ เหมือนเรื่องรักลึกลับของ ชาร์ลส์ กาวิส ทั้งที่ตัวเรื่องและข้อมูลแต่โบราณอันเป็นรากเหง้าดั้งเดิมของเราที่ฝั่งตัวอยู่ในพิธีกรรมและคติความเชื่อทั้งพุทธ ทั้งพราหมณ์ ทั้งผี มีรอพร้อมให้หยิบฉวยมาได้อยู่แล้ว แต่เราไม่พัฒนา วิธีการ และกลวิธี ในเชิง magical ให้มีแง่มุม “ทันสมัย” ขึ้นมามากนัก ความแปลกมหัศจรรย์ของ ท้าวพันตา ที่ถูกสาปให้มี “อวัยวะเพศหญิง” ทั่วทั้งตัวถือเป็น “แฟนตาซี” ที่มหัศจรรย์ยิ่งนัก โยนีปิศาจ ที่ล่องลอยไปตามน้ำเพื่อตามหาสามี อันเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกันสมุนไพรชนิดหนึ่ง หรือแม้แต่ “สถานที่ลึกลับน่ากลัว” ที่ฝรั่งถือเป็น a house full of horror ของเราก็มีอยู่มากมายในเรื่องราวการเล่าแบบ “จักรๆ วงศ์ๆ” และคติพื้นบ้านพื้นเมืองแต่ดั้งเดิม--ลองจินตนาการถึงโครงกระดูกมนุษย์และความสยดสยองใน “ห้องลับ” ที่พระสังข์ไปค้นพบและรู้ความจริงว่าแม่ของตนเป็นยักษ์ นี่แหละครับแง่มุมแบบฝรั่งเรียกว่า “กอธิก” น่าสยองขวัญนัก แต่เราไม่พัฒนาความกลัวหรือความน่ากลัวแบบฝรั่ง เราพัฒนาเสียงหัวเราะและอารมณ์ขันขึ้นมาแบบ “ไทยรักสนุก” แม่แต่เรื่องน่ากลัวแบบ แม่นาคพระโขนง เอาเข้าจริงแล้วก็ดูเหมือนได้ยินเสียงหัวเราะ “แม่นาค” ถูกเรียกตัวลงหม้อเอาไปถ่วงน้ำดังลอดออกมา คล้ายกับเห็นหน้า “ล้อต๊อก” อย่างไรก็อย่างนั้น ผมหัวเราะทุกครั้งเวลาดูหนังไทยเมื่อวัยเด็ก เรื่อง “กอธิก” แบบไทย-ไทยนั้น ถ้าจะมีการพัฒนาในแง่มุมมองก็เห็นจะเป็นมุมมองว่าด้วย “ความกลัวนั้นสามารถหัวเราะได้” ส่วนเรื่อง “กอธิก” แบบฝรั่งขนานแท้ มุมมองของเขาตามความเข้าใจของผมจะอยู่ที่ “ความกลัวคือความกลัวในตัวของมันเอง”