สตีเฟน คิงก์ |
สตีเฟน คิงก์ ได้รับจัดอันดับเป็นนักเขียนผู้มีรายได้จากงานเขียนเป็นอันดับต้นๆของโลก เป็นรองเพียง เจ.เค.โรว์ลิง กับเจมส์ แพตเตอร์สัน เท่านั้น ว่ากันตามจริง ในอนาคตเขาน่าจะไต่อันดับได้ไม่ยากนัก เพราะนับวันงานเขียนของสตีเฟน คิงก์ขายดิบขายดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงอย่างไรในวงการนักเขียนผี เขาคือมือหนึ่งของโลกที่ไม่มีใครกล้าปะมือด้วย
สตีเฟน คิงก์ เกิดเมื่อปี ค.ศ.1947 ในเมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐเมน ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาจบปริญญาตรี สถานะแต่งงานแล้ว มีลูก 2 คน ปัจจุบัน อาศัยในเมืองบังกอร์ มลรัฐเมน กับ ทาบิธา เมียผู้ถือกิ่งทองใบหยก
หากย้อนดูเส้นทางนักเขียนของสตีเฟน คิงก์ เหตุผลที่เขาประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ ส่วนหนึ่งมาจากชีวิตวัยเด็กที่ผลักดันให้เขาเข้าสู่โลกหนังสือ ทั้งครอบครัวของสตีเฟน คิงก์รักการอ่าน และการค้นคว้า เห็นได้จากตอนเด็กเขากับพี่ชายพยายามทดลองอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ไฟฟ้าดับไปทั้งเมือง
เหตุการณ์ครั้งนั้นพี่น้องหาได้เข็ดหลาบไม่ พวกเขาผลิตสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆอีกหลายชิ้น และพยายามทดลองผลงานของตนอยู่เสมอ นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ครอบครัวของสตีเฟน คิงก์ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้งในช่วงแรกของชีวิต เพราะเพื่อนบ้านมักได้รับความเดือดร้อนจากนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ทั้งสองคน
สตีเฟน คิง |
พอเขียนเสร็จเขาก็เอาไปให้แม่อ่าน แม่ชื่นชมกับความพยายามของเขา แต่ก็กระตุ้นลูกด้วยการให้กำลังใจทำนองว่า หากสตีเฟน คิงก์เขียนเรื่องของตนและด้วยความคิดของตนได้สำเร็จเมื่อไร เมื่อนั้นแม่จะดีใจกว่านี้หลายเท่า ต่อมาแม่ของเขาเห็นแววนักเขียนในตัวลูกชาย จึงซื้อพิมพ์ดีดเป็นของขวัญคริสต์มาสให้กับสตีเฟน คิงก์
หากจะบอกว่าชายผู้นี้เกิดมาเพื่อเขียนหนังสือโดยเฉพาะ คงไม่ใช่เป็นการกล่าวเกินเลยนัก เห็นได้จากเขาขายต้นฉบับได้ตั้งแต่เป็นเด็กเรียนชั้นประถม พออายุ 14 ปี เขาเข้าทำงานในสำนักพิมพ์ท้องถิ่น มีหน้าที่เขียนข่าวกีฬา
เมื่อเด็กสตีเฟน คิงก์พบกับประสบการณ์หวาดกลัวและเจ็บปวดเสมอ จนความรู้สึกดังกล่าวฝังแน่นในจิตสำนึก ต่อมาเขาใช้ประสบการณ์ความกลัวหากินบนเส้นทางนักเขียน ยกตัวอย่างเช่น เขาถูกพี่เลี้ยงจับขังในตู้เสื้อผ้าเมื่อตอน 4 ขวบ ต้องเผชิญอยู่กับความมืดในตู้อับทึมตลอดทั้งวัน และตลอดเวลาที่อยู่กับพี่เลี้ยงก็มักจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อยู่เสมอ
เขาถูกก้อนหินหล่นทับนิ้วเท้าจนแหลกละเอียด และความเจ็บปวดที่สตีเฟน คิงก์จดจำขึ้นใจ คือเมื่อตอนที่เขาถูกหมอเอาเข็มทิ่มเข้าไปในรูหูเพื่อรักษาหูเป็นหนอง เวลาใกล้เคียงกันเขาก็ถูกหมอเอาเครื่องมือล้วงเข้าไปในลำคอเพื่อควานเอาเชื้อร้ายออกมา
สิ่งเจ็บปวดเหล่านี้ซึมซับเขาไปในจิตสำนึกของสตีเฟน คิงก์ เขาค่อยๆเรียนรู้ความหวาดกลัวและความเจ็บปวด ทุกครั้งที่มีคนเล่าเรื่องสยดสยอง สตีเฟน คิงก์กระตือรือร้นตั้งใจฟังเสมอ กระทั้งสตีเฟน คิงก์ถูกรถตู้พุ่งชนเมื่ออายุ 52 ปี เขาบอกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เขาคุ้นชินแล้ว ที่ต้องพบกับความเจ็บปวดเช่นนี้
สตีเฟน คิงก์ทำงานเขียนด้วยใจรัก แม้แต่ตัวเองยังรับประกันไม่ได้ว่าอาชีพนักเขียนจะทำให้ชีวิตมั่นคง เห็นได้จากช่วงแรกที่เขาผลิตงานชิ้นแรกสำเร็จสตีเฟน คิงก์กังวลเหมือนผู้คนทั่วไปที่เข้ามาในเส้นทางนี้ คือ ไม่มั่นใจว่างานของตนจะผ่านการพิจารณาตีพิมพ์ กระทั่งงานเขียนเล่มแรกของตนประสบความสำเร็จ ขนาดถูกซื้อไปแปลงเป็นบทภาพยนตร์สตีเฟน คิงก์ก็ไม่เชื่อว่าตนเองจะทำได้ถึงเพียงนั้น
เมื่อสตีเฟน คิงก์จบมัธยม เขาปรารถนาจะเดินบนเส้นทางนักเขียน ด้วยการทำงานในโรงงาน และเอาเวลาส่วนหนึ่งมาเขียนหนังสือ แต่ได้ถูกปฏิเสธจากผู้เป็นแม่ โดยขอร้องให้สตีเฟน คิงก์เรียนมหาวิทยาลัยและทำงานโรงงานไปด้วย ดีกว่ายึดอาชีพเขียนหนังสือที่มองไม่เห็นอนาคตในภายหน้า
สตีเฟน คิงก์เชื่อฟังแม่ แต่ก็ไม่ทิ้งความฝันของตน งานเขียนได้รับการตีพิมพ์สม่ำเสมอ เมื่อช่วงที่เขาเรียนในมหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับความรักที่เขาต้องฟูมฟักไปด้วยในเวลาเดียวกัน ช่วงนี้เองที่เขาได้เข้าไปสู่วงการสมาคมนักเขียนของเมืองนั้น โดยได้ร่วมกิจกรรมที่สำคัญหลายครั้ง ต่อมาสตีเฟน คิงก์ย้อนอดีตให้ฟังว่า มันเป็นช่วงที่เหลวไหลช่วงหนึ่งในชีวิต เพราะเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย นอกจากคำชมของบรรดาเพื่อนร่วมกลุ่ม ทำนองว่า ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน และชื่นชมกันเอง
เมื่อถูกถามถึงเคล็ดการเขียนสตีเฟน คิงก์ตอบสั้นๆแบบทีเล่นทีจริงว่า
“ห้ามเย็บด้วยลวดเย็บกระดาษ จัดเรียงหน้า เสียบด้วยลวดเสียบกระดาษ ถือเป็นวิธีที่ถูกต้องในการส่งต้นฉบับ”
นักเขียนผีหน้าใหม่ที่อยากเดินตามนักเขียนผีระดับปรมาจารย์จะนำเอาเคล็ดลับสุดยอดข้อนี้ไปใช้ ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ประการใด